เทศกาลบั้งไฟพญานาค ประเพณีออกพรรษา จ.หนองคาย (ดูภาพด้านล่าง)
หมายเหตุ : เนื้อหาและรูปภาพในหัวข้อเทศกาลบั้งไฟพญานาค ประเพณีออกพรรษา จ.หนองคายนี้ มีด้วยกันทั้งหมด 2 หน้า ท่านสามารถ click link ตัวเลขที่ด้านล่างสุดของหน้า เพื่อชมข้อมูลและรูปภาพในหน้าต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ
จากกระแสความโด่งดังของภาพยนตร์เรื่อง “15 ค่ำ เดือน 11” เมื่อหลายปีก่อนได้ทำให้คนไทยหลาย ๆ คนหันกลับมาสนใจเรื่องราวของปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค” มากยิ่งกว่าครั้งไหน ๆ ที่เคยเป็นมาในอดีต ภาพของลูกไฟสีแดงอมชมพูที่พวยพุ่งผุดขึ้นมาเหนือลำน้ำโขงโดยปราศจากเสียง กลิ่น ควัน หรือสิ่งบอกเหตุล่วงหน้าใด ๆ ในค่ำคืนวันออกพรรษาได้กลายเป็นดุจดั่งสิ่งมหัศจรรย์ที่ทำให้ผู้คนจากทั่วสารทิศเดินทางหลั่งไหลมายังสองฟากฝั่งตลิ่งริมลำน้ำโขงในเขต อ.สังคม ไปจนถึง อ.บึงโขงหลง จ.หนองคาย
ทุก ๆ ปี
|
ยามเย็นริมฝั่งโขง ช่วงระหว่าง อ.โพนพิสัย - อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย
ก่อนการเริ่มต้นของปรากฏการณ์มหัศจรรย์ "บั้งไฟพญานาค"
|
|
....................สงบ.....สงัด....................
|
“บั้งไฟพญานาค” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงวันออกพรรษาตลอดแนวความยาวกว่า 300 กม. ของลำน้ำโขงซึ่งกั้นขวางระหว่าง จังหวัดหนองคาย ประเทศไทย กับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยจะมีจำนวนลูกไฟที่ผุดพวยพุ่งขึ้นมาจากลำน้ำโขงมาก – น้อยแตกต่างกันไปในแต่ละปีตามแต่ละพื้นที่ดังตัวอย่างสถิติตามตารางด้านล่างต่อไปนี้ (อำเภอที่มีสถิติการเกิดบั้งไฟพญานาคมากที่สุด ได้แก่ อ.โพนพิสัย และ อ.รัตนวาปี)
สถิติปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ปี 2549 – 2552 |
อำเภอ |
จำนวนลูกไฟ (ลูก) |
พ.ศ.2549 |
พ.ศ.2550 |
พ.ศ.2551 |
พ.ศ.2552 |
อ.สังคม |
2 |
34 |
15 |
- |
อ.ศรีเชียงใหม่ |
- |
2 |
12 |
3 |
อ.ท่าบ่อ |
- |
- |
1 |
6 |
อ.เมืองหนองคาย |
35 |
22 |
16 |
9 |
อ.โพนพิสัย |
97 |
41 |
173 |
34 |
อ.รัตนวาปี |
100 |
96 |
143 |
32 |
อ.ปากคาด |
7 |
48 |
201 |
1 |
อ.บึงกาฬ |
- |
5 |
31 |
- |
อ.บึงโขงหลง |
32 |
2 |
238 |
2 |
รวม |
273 |
250 |
830 |
87 |
** ข้อมูลสถิติปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคตามตารางข้างต้นนี้เป็นข้อมูลก่อนที่จะมีการแบ่งแยก
อ.ปากคาด , อ.บึงกาฬ และ อ.บึงโขงหลง ออกเป็นจังหวัดบึงกาฬ ท่านสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลสถิติปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคปีล่าสุดได้ที่ศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยว จ.หนองคาย ตามเบอร์โทรศัพท์
(042) 421 – 326 หรือ (042) 420 – 745 **
|
|
....................ย่างก้าวสู่ราตรีอันลี้ลับ.................... |
แรกเริ่มเดิมทีชาวหนองคายเคยเรียกบั้งไฟพญานาคว่า “บั้งไฟผี” ส่วนชาวเวียงจันทร์ สปป.ลาวจะเรียกว่า “ดอกไม้ไฟน้ำ” จากการเฝ้าสังเกตของชาวบ้านริมสองฝั่งแม่น้ำโขงนี้เองที่ทำให้ได้พบว่าบั้งไฟผี (หรือ ดอกไม้ไฟน้ำ) มักจะเกิดขึ้นให้เห็นอยู่เป็นประจำในช่วงเวลาพลบค่ำไปจนกระทั่งถึงช่วงเวลาเที่ยงคืนของวันเพ็ญ (ขึ้น 15 ค่ำ) เดือน 11 ตามปฏิทินทางจันทรคติซึ่งตรงกันกับ “วันออกพรรษา” พอดิบพอดี ต่อมาภายหลังจึงได้มีการนำเอาตำนานความเชื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับพญานาคเข้ามาผูกโยงเข้ากับเรื่องราวทางพุทธศาสนาจนก่อกำเนิดเกิดเป็น “ตำนานบั้งไฟพญานาค” ที่เล่าสืบทอดต่อ ๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่นจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
|
หากไม่อยากพลาดชมบั้งไฟพญานาคแม้เพียงแค่ลูกเดียว
ก็ต้องมารอตั้งแต่ก่อนพระอาทิตย์ตกแบบนี้แหละ
|
เรื่องเล่าโดยย่อเกี่ยวกับตำนานบั้งไฟพญานาคมีอยู่ว่า ในสมัยพุทธกาลภายหลังจากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และเสด็จออกเผยแผ่ศาสนาไปทั่วชมพูทวีป พญานาคเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในธรรมซึ่งพระพุทธองค์ทรงประกาศยิ่ง จึงจำแลงกายเป็นบุรุษขอบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ ค่ำคืนหนึ่งพญานาคเผลอหลับใหลคืนร่างเดิม ความทราบถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงขอให้พญานาคลาสิกขาเนื่องจากเป็นเดรัจฉานจะบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ไม่ได้ พญานาคยอมตามคำของพระพุทธองค์แต่ได้ทูลขอให้เรียกกุลบุตรที่กำลังจะบวชว่า “นาค” เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความศรัทธาของตนก่อนแล้วจึงค่อยบวชเข้าโบสถ์เป็นพระภิกษุสงฆ์ จากนั้นเป็นต้นมาจึงมีการเรียกกุลบุตรทั้งหลายที่จะบวชว่า “พ่อนาค”
|
สีสันยามค่ำคืนริมเขื่อนป้องกันตลิ่ง ด้านหน้าวัดลำดวน อ.เมือง จ.หนองคาย
|
|
...............15 ค่ำ เดือน 11...............
|
ครั้นเมื่อพระพุทธองค์เสด็จโปรดพระนางสิริมหามายา พุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพรรษาที่ 7 เสร็จเรียบร้อยแล้วเสด็จกลับลงสู่โลกในวันออกพรรษา พระองค์ทรงผายพระกรออกทำให้ สวรรค์ มนุษย์ และบาดาลเปิดเชื่อมติดต่อถึงกันในวันนี้ เหล่าพญานาคทั้งหลายต่างพ่นลูกไฟถวายความชื่นชมยินดีกลายเป็นที่มาของ “บั้งไฟพญานาค” ในท้ายที่สุด
|
ดอกไม้ไฟ กับ เรือไฟ ในเทศกาลบั้งไฟพญานาค
|
ลักษณะของบั้งไฟพญานาคนั้นเป็นลูกไฟกลมสีแดงอมชมพู (หรือสีส้มอมแดง บางคนก็ว่ามีสีเขียวด้วย ? แต่บั้งไฟพญานาคที่ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมมีโอกาสได้เห็นจะมีแค่สีแดงอมชมพูหรือสีส้มอมแดงเท่านั้น.....ไม่มีสีเขียวครับ) ขนาดใกล้เคียงกับไข่ไก่หรือผลส้ม ผุดขึ้นมาจากลำน้ำโขงโดยไม่มีสัญญาณบอกเหตุล่วงหน้า (ไม่มีน้ำผุด ไม่มีวงคลื่นให้เห็น) ตัวลูกไฟปราศจากเสียง กลิ่น ควัน และไร้หาง (ลูกไฟตามปกติเวลามีการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมักจะมีหางลูกไฟปรากฏให้เห็น หากจินตนาการถึงลูกไฟตามปกติไม่ออกให้ลองนึกถึงลูกไฟจากพลุดูก็ได้ครับ สำหรับบั้งไฟพญานาคนั้นจะเป็นลูกไฟลักษณะกลม ๆ ไม่มีหางแตกต่างกับพลุอย่างชัดเจน) พวยพุ่งขึ้นไปในอากาศสูงประมาณ 30 – 150 เมตรก่อนจะลับหายไปโดยไม่มีการโค้งตกลงมา ส่วนมากบั้งไฟพญานาคจะผุดขึ้นมาจากตำแหน่งเดิม ๆ บนผืนน้ำเป็นชุดๆ ชุดละ 2 – 4 ลูก (จำนวนลูกไฟสูงสุด/ชุดซึ่งทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมมีโอกาสได้เห็น คือ 8 – 9 ลูก/ชุด) แต่ก็อาจจะพบเป็นลูกเดี่ยว ๆ ได้บ้าง
|
...............อืม....ม...ม..ม.ม.....น้ำลายไหล...............
|
มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยที่พยายามอธิบายว่าปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคมีต้นกำเนิดจากซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมกันอยู่ใต้ลำน้ำโขงถูกแบคทีเรียย่อยสลายแล้วปล่อยก๊าซมีเทนร้อนออกมา เมื่อก๊าชมีเทนลอยโผล่พ้นผิวน้ำมาเจอกับอุณหภูมิที่สูงกว่าก็ลุกติดไฟขึ้น สุดท้ายพอก๊าซเผาไหม้จนหมดลูกไฟก็เลือนหายไป ถึงแม้ว่าสมมุติฐานนี้จะดูดีมีเหตุผลจนหลาย ๆ คนคล้อยตาม แต่ก็ยังมีข้อโต้แย้งบางประการว่าไฉนใยลูกไฟพิศวงนี้จึงเกิดมีขึ้นเฉพาะในค่ำคืนวันออกพรรษา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) ? ฤๅว่าก๊าซมีเทนจะมีสมอง ? (ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมได้พูดคุยสอบถามข้อมูลต่าง ๆ จากชาวเมืองหนองคายหลายคน เกือบจะทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “บั้งไฟพญานาค” เกิดขึ้นเฉพาะในค่ำคืนวันออกพรรษามาหลายสิบปี แต่ก็ได้พบกับชาวเมืองหนองคายบางคนที่บอกว่าวันอื่น ๆ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับวันเข้าพรรษาก็จะมีบั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน เพียงแต่มีจำนวนลูกไฟที่สามารถพบเห็นได้น้อยกว่าช่วงวันเข้าพรรษมาก ๆ) , ทำไมบั้งไฟพญานาคจึงมีลักษณะเป็นลูกไฟกลม ๆ ไม่มีหาง ไม่มีควัน และไม่มีกลิ่น ? ทั้งๆ ที่ลูกไฟจากก๊าซซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงควรจะมีหางลูกไฟปรากฏให้เห็น ? , เพราะเหตุใดตำแหน่งที่มีบั้งไฟพญานาคพวยพุ่งขึ้นมาจากลำน้ำโขงจึงไม่มีพรายน้ำ (ฟองอากาศ) ผุดขึ้นมาเป็นระยะ ๆ หากว่าบั้งไฟพญานาคเป็นปรากฏการณ์ซึ่งเกิดขึ้นจากก๊าซมีเทนจริง ? , เพราะอะไรบั้งไฟพญานาคจึงมีขนาดลูกไฟที่ใหญ่ใกล้เคียงกันเกือบทุกลูก (ขนาดลูกไฟใหญ่พอ ๆ กับไข่ไก่/ผลส้ม) ? , ฯลฯ
|
มากมายทั้งของกิิน.....ของเล่น |
|
"งานวัด" ในเทศกาลบั้งไฟพญานาคและประเพณีออกพรรษา อ.เมือง จ.หนองคาย
|
จากข้อโต้แย้งหลาย ๆ ข้อดังกล่าวข้างต้นนี้เองที่ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยยังไม่ปักใจเชื่อในข้อสันนิษฐานของบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่ว่า “บั้งไฟพญานาคเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติซึ่งเกิดจากก๊าซมีเทนร้อนที่ลุกติดไฟ” ซึ่งไม่ว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้จะเป็นอย่างไรก็ตาม ทุกๆ ปีในค่ำคืนวันออกพรรษา 15 ค่ำ เดือน 11 ก็จะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากมายเดินทางมาจากทั่วสารทิศเพื่อรอชื่นชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคริมตลิ่งลำน้ำโขง จ.หนองคาย ตลอดแนวความยาวกว่า 300 กม.
อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
นักท่องเที่ยวซึ่งต้องการจะเดินทางมารอชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคควรติดต่อจองห้องพักล่วงหน้าก่อนถึงวันออกพรรษาไม่ต่ำกว่า 1 เดือน และควรโทรศัพท์สอบถามข้อมูลสถิติปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคปีล่าสุดจากศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยว จ.หนองคาย เพื่อมาวางแผนการเดินทางล่วงหน้าว่าจะเลือกไปชมบั้งไฟพญานาคในเขตอำเภอใดจึงจะดีที่สุด เพราะปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคนั้นเกิดขึ้นมาก – น้อยแตกต่างกันไปในแต่ละปีตามแต่ละพื้นที่ หากนักท่องเที่ยวเลือกไปรอชมบั้งไฟพญานาคในบางพื้นที่ซึ่งไม่ค่อยจะมีปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วล่ะก็.....นักท่องเที่ยวอาจไม่มีโอกาสได้เห็นบั้งไฟพญานาคเลยแม้แต่ลูกเดียวก็เป็นได้ (ในทุก ๆ ปีจะมีนักท่องเที่ยวที่อุตส่าห์ดั้นด้นเดินทางมา จ.หนองคาย เพื่อรอชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคแต่ก็ต้องพลาดหวังจำนวนไม่น้อยเพราะเลือกจุดรอชมบั้งไฟฯไม่เหมาะสม.....การหาข้อมูลทางสถิติว่าจุดใด อำเภอใดมีบั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นมาก ๆ อยู่เป็นประจำจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นครับ)
|
....................แสง สี ที่สั่นไหว....................
|
|
การแสดง "เปิดตำนานบั้งไฟพญานาค" บริเวณที่ราชพัสดุข้าง ๆ "วัดลำดวน"
|
|
ดนตรี และ ลีลา อันน่าฟัง.....น่าชม
|
เมื่อวันออกพรรษาปี พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) ได้มีโอกาสเดินทางมาเก็บข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ณ จังหวัดหนองคายและจากการสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาก่อนล่วงหน้าก็ทำให้พวกเราตัดสินใจไปเฝ้ารอชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคบริเวณตลิ่งริมลำน้ำโขงช่วงก่อนถึง อ.รัตนวาปีประมาณ 2 กม. ซึ่งการตัดสินใจนี้ก็ไม่ทำให้ผิดหวังเพราะพวกเราได้เห็นบั้งไฟพญานาคมากถึง 15 ลูก (ใครซึ่งเคยชมภาพยนตร์เรื่อง “15 ค่ำ เดือน 11” มาก่อน คงจะเห็นได้ว่าฉากของภาพยนตร์เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเขต อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ซึ่งเป็นอีกอำเภอหนึ่งที่มีปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากอยู่เป็นประจำ ในวันออกพรรษาปี พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมาหากใครไปรอชมบั้งไฟพญานาคอยู่ใกล้ๆ กับตัว อ.โพนพิสัยก็คงไม่ผิดหวังเช่นเดียวกัน แต่บั้งไฟพญานาคของแท้นั้นจะมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างจากในภาพยนตร์พอสมควร แถมไม่ได้เกิดเป็นลูกไฟจำนวนมากขึ้นทั่วทั้งลำน้ำเหมือนในภาพยนตร์ด้วย..........ในความเป็นจริงหากคุณมีโอกาสได้เห็นบั้งไฟพญานาคแบบเต็ม ๆ ตาสัก 1 – 2 ลูกก็ถือว่าโชคดีมากแล้วล่ะครับ) หลังจากที่ได้เห็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์กันไปพออิ่มอกอิ่มใจแล้ว พวกเราก็ออกเดินทางกลับสู่ที่พักในเขต อ.เมือง จ.หนองคาย ตั้งแต่เวลา 20.40 น. (พวกเรามองเห็นบั้งไฟพญานาคชุดสุดท้ายเวลาประมาณ 19.45 น.แล้วนั่งรออยู่ต่อประมาณเกือบ 1 ชม.ก็ไม่ปรากฏว่ามีบั้งไฟฯเกิดขึ้นให้เห็นอีก พวกเราจึงตัดสินใจออกเดินทางกลับสู่ที่พักโดยไม่อยู่รอจนถึงเที่ยงคืน)
|
ฉากอันวิจิตรของการแสดง "เปิดตำนานบั้งไฟพญานาค"
|
หลังจากที่หลาย ๆ คนได้อ่านบทความ “เทศกาลบั้งไฟพญานาค – ประเพณีออกพรรษา จ.หนองคาย” และรับชมภาพถ่ายต่าง ๆ มาจนถึงย่อหน้านี้ก็อาจจะมีบางคนที่สงสัยว่า ทำไมไม่เห็นมีภาพบั้งไฟพญานาคเลย ? ซึ่งทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมขออนุญาตชี้แจงเหตุผลต่อข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นเพื่อความกระจ่างแจ้งของทุกๆ ท่านไว้ ณ โอกาสนี้ว่า.....การถ่ายภาพบั้งไฟพญานาคของแท้นั้นกระทำได้ยากมาก ๆ เพราะพวกเราไม่ทราบว่าบั้งไฟฯจะพวยพุ่งขึ้นมาจากลำน้ำโขงเมื่อไหร่ ? จะผุดขึ้นมาที่จุดไหน ? จะเกิดบั้งไฟฯ ณ จุดนั้นๆ กี่ลูก ? แถมบั้งไฟพญานาคที่พวยพุ่งขึ้นมานั้นยังปรากฏให้เห็นอยู่เพียงแค่ไม่เกิน 3 – 5 วินาทีแล้วก็เลือนหายไป (แค่ก้มตัวลงไปยกกล้องขึ้นมาเล็ง.....บั้งไฟพญานาคลูกที่เห็นก็เลือนหายไปเรียบร้อยแล้ว ในกรณีที่ใช้ขาตั้งกล้อง.....หากหันหน้ากล้องไปผิดด้านกว่าจะหมุนกล้องกลับมาให้ตรงกับจุดที่มองเห็นบั้งไฟพญานาค บั้งไฟฯก็เลือนหายไปเรียบร้อยแล้วเช่นเดียวกันครับ) ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนี้เองทำให้พวกเราไม่สามารถบันทึกภาพบั้งไฟพญานาคเอาไว้ได้เลยแม้แต่ภาพเดียว (แต่ก็ยังถือเป็นบุญตาที่ได้เห็นว่า “บั้งไฟพญานาค” ของแท้นั้นเป็นอย่างไรครับ) เพราะฉะนั้นใครที่อยากจะเห็นปรากฏการณ์ซึ่งหาดูได้ยากยิ่งเช่นนี้.....ก็จำเป็นต้องเดินทางมายัง จ.หนองคายในช่วงวันออกพรรษาเท่านั้น
|
นักแสดงสาวสวย กับ หนุ่มๆ ผิวเข้ม
|
“วันออกพรรษา” มีความสำคัญในฐานะที่เป็นวันสิ้นสุดช่วงการจำพรรษาและในวันดังกล่าวนี้เองที่พระภิกษุสงฆ์จะกระทำ “สังฆกรรมปวารณา” ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาด้วยกันมาตลอดระยะเวลา 3 เดือน สามารถว่ากล่าวตักเตือนชี้ข้อบกพร่องแก่กันและกันได้โดยเสมอภาค การกระทำดังกล่าวนี้เป็นการกระทำด้วยจิตปรารถนาดีต่อกันเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ที่ถูกตักเตือนมีโอกาสได้รับรู้ข้อบกพร่องของตนและสามารถแก้ไขปรับปรุงตัวให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปได้ ส่วนพุทธศาสนิกชนทั้งหลายก็ถือว่า “วันออกพรรษา” เป็นโอกาสอันดีที่จะได้เข้าวัด ฟังธรรม และบำเพ็ญกุศลแก่พระภิกษุสงฆ์ซึ่งตั้งใจศึกษาปฏิบัติธรรมมาตลอดไตรมาสจนครบพรรษากาลในวันนี้
|
เรื่องราวบางส่วนบอกเล่าที่มาของประเพณีการ "บวชนาค"
|
นอกเหนือไปจากการประชาสัมพันธ์ – ชักชวนให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคตามอำเภอต่าง ๆ ในเขตจังหวัดหนองคายแล้ว ทางจังหวัดยังได้จัดกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนารวมไปถึงกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอื่น ๆ ในช่วงวันออกพรรษาอีกหลากหลายชนิด ได้แก่
1.การแสดงแสง สี เสียง “เปิดตำนานบั้งไฟพญานาค” เป็นการแสดงที่บอกเล่าถึงเรื่องราวความเชื่ออันเป็นจุดกำเนิดของการยิงบั้งไฟในงาน “ประเพณีบุญบั้งไฟ” ซึ่งชาวไทยอีสานและชาวลาวจัดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ ปีในช่วงวันวิสาขบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6) อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของ “ประเพณีบวชนาค” รวมไปจนถึงตำนานที่มาของ “บั้งไฟพญานาค” อันลือเลื่องด้วย (เพื่อความกระจ่าง.....ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมขออนุญาตอธิบายย้ำให้ทราบชัด ๆ อีกสักคำรบหนึ่งว่า “ประเพณีบุญบั้งไฟ” นั้นเป็นประเพณีที่ชาวไทยอีสานและชาวลาวจัดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ ปีในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งตรงกันกับ “วันวิสาขบูชา” ส่วนปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค” นั้นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในยามย่ำสนธยาราตรีของคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งตรงกันกับ “วันออกพรรษา” ครับ)
|
การแสดงอันงดงามเช่นนี้มีให้ดูฟรีๆ ที่ จ.หนองคาย
|
|
...............สืบสานตำนานอันเก่าแก่............... |
ปกติการแสดงแสง สี เสียง “เปิดตำนานบั้งไฟพญานาค” จะจัดขึ้นในคืนวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 – วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 (การแสดงวันแรกเป็นวันซ้อมใหญ่ แต่การแต่งกายของตัวละครและการแสดงต่างๆ จะเหมือนกับวันแสดงจริงทุกอย่างทุกประการ) บริเวณที่ราชพัสดุข้าง “วัดลำดวน” ริมเขื่อนป้องกันตลิ่ง อ.เมือง
จ.หนองคาย นักท่องเที่ยวสามารถเลือกพักแรมในเขตเมืองเพื่อรอชมการแสดงแสง สี เสียงก่อนหนึ่งคืน แล้วจึงเลือกไปพักค้างแรมในเขตอำเภออื่นๆ เพื่อรอชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคในค่ำคืนวันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ก็ได้ (ในเขต อ.เมือง จะไม่ค่อยมีปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นให้เห็น นักท่องเที่ยวส่วนมากจึงเลือกที่จะไปรอชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคอยู่ในเขตอำเภออื่นๆ ของ จ.หนองคายแทน)
|
โฉมหน้ากลุ่มนักแสดง "เปิดตำนานบั้งไฟพญานาค" อ.เมือง จ.หนองคาย
|
2.การลอยเรือไฟบูชาพญานาค ในคืนวันออกพรรษาตามวัดต่างๆ ริมสองฟากฝั่งลำน้ำโขงจะจัดให้มีการลอยเรือไฟเพื่อบูชาพญานาคขึ้น ซึ่งดั้งเดิมนั้นจะมีการสร้างเรือไฟขึ้นจากโครงไม้ไผ่และหยวกกล้วย ประดับด้วยดอกไม้พร้อมธูปเทียน แต่ปัจจุบันชาว จ.หนองคาย นิยมนำเรือโดยสารมาต่อโครงนั่งร้านโลหะแล้วประดับประดาเรือด้วยหลอดไฟฟ้ามากกว่าที่จะสร้างเรือไฟตามแบบฉบับดั้งเดิม และจะไม่มีการลอยเรือประดับหลอดไฟฟ้าดังกล่าวข้างต้นไปในลำน้ำโขง (เรือจะจอดโชว์เฉย ๆ อยู่ริมตลิ่ง) หากแต่จะปรับเปลี่ยนการลอยเรือไฟให้กลายมาเป็นการลอยกระทงในค่ำคืนวันออกพรรษาทดแทน (แต่ชาวบ้านและพระสงฆ์ในฝั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวจะยังคงมีการสร้างเรือไฟโดยใช้โครงไม้ไผ่ – หยวกกล้วย ประดับดอกไม้ธูปเทียนอยู่ อีกทั้งยังคงมีการสืบสานประเพณีลอยเรือไฟในแบบดั้งเดิมเอาไว้ไม่เสื่อมคลาย.....นับเป็นเสน่ห์ของเมืองลาวจริง ๆ) นอกจากนี้ยังมีการจัดประกวดกระทงยักษ์ตั้งแต่บริเวณท่าน้ำ “วัดลำดวน” – ท่าน้ำ “วัดสิริมหากัจจายน์” อ.เมือง จ.หนองคายด้วย
เทศกาลบั้งไฟพญานาค ประเพณีออกพรรษา จ.หนองคาย หน้า 1 2
|
|